article
จะทำอย่างไร หากร่างกายรับแคลเซียมไม่เพียงพอ?

 

จะทำอย่างไร หากร่างกายรับแคลเซียมไม่เพียงพอ?

 

          แคลเซียม เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน อีกทั้งยังมีบทบาทในกระบวนการแข็งตัวของเลือด การควบคุมสมดุลกรด-ด่าง การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ และการทำงานของระบบประสาท
          แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ เราจึงต้องรับมาจากอาหารเท่านั้น เช่น ในนมวัว นมถั่วเหลือง ปลาและกุ้งตัวเล็ก ปลาซาดีน เต้าหู้ และไข่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายคนที่มีปัญหาแพ้นมวัว แพ้อาหารทะเล หรือต้องจำกัดปริมาณอาหาร ก็อาจไม่สามารถรับแคลเซียมจากอาหารได้เพียงพอ จนทำให้ร่างกายขาดแคลเซียมได้เช่นกัน


ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการ


ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการในแต่ละช่วงอายุ เป็นดังนี้
- อายุ 0 – 3 ปี 200 – 500 มิลลิกรัม/วัน
- อายุ 3 – 8 ปี 500 – 800 มิลลิกรัม/วัน
- อายุ 8 – 18 ปี 800 – 1,000 มิลลิกรัม/วัน
- อายุ 18 – 40 ปี ประมาณ 800 มิลลิกรัม/วัน
- อายุ 40 ปีขึ้นไป ประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน


          จะเห็นได้ว่าคนในวัยกำลังเจริญเติบโต และวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ จะต้องการแคลเซียมมากเป็นพิเศษ เนื่องจากแคลเซียมนั้นจำเป็นต่อการเสริมสร้างความหนาแน่นของมวลกระดูก


ทำไมร่างกายจึงขาดแคลเซียม?


ร่างกายเราอาจขาดแคลเซียมได้จากหลายสาเหตุ เช่น
● กินแคลเซียมไม่เพียงพอ
● ดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
● ไม่ออกกำลังกาย
● ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน
● ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อย ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น
- ขาดวิตามิน ดี ซึ่งเป็นตัวเร่งการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้
- กินอาหารที่มีออกซาเลตสูงปริมาณมาก เช่น ผักกวางตุ้ง ผักโขม ปวยเล้ง ออกซาเลตจึงไปจับกับแคลเซียมและยับยั้งการดูดซึม
- กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงปริมาณมาก จึงรบกวนการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้


ผลเสียจากการขาดแคลเซียม


          การที่ร่างกายขาดแคลเซียม จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกบางและเปราะหักง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย
          โรคกระดูกพรุนนั้นพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเพศหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ด้วยเหตุนี้คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงต้องการแคลเซียมในปริมาณมากเป็นพิเศษ


การรับประทานแคลเซียมเสริม


การทานแคลเซียมเสริมอาจจำเป็นในผู้สูงอายุ และคนที่ไม่สามารถรับแคลเซียมจากอาหารได้เพียงพอ โดยแคลเซียมเสริมนั้นมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น
- แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นแบบที่ดูดซึมได้น้อย และอาจก่ออาการท้องอืด ท้องผูกได้
- แคลเซียมซิเทรต สามารถดูดซึมได้ปานกลาง แต่อาจทำให้ปวดแสบท้องได้เช่นกัน จึงควรกินพร้อมกับอาหาร
- แคลเซียม แอล ธีโอเนต ดูดซึมได้ดี และสามารถกินตอนท้องว่างได้


แคลเซียมเสริมในรูปแบบต่างๆ นั้นมีวิธีและคำแนะนำในการทานแตกต่างกันไป เราจึงควรอ่านรายละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถี่ถ้วน

 

Share this Article

สินค้าแนะนำ