article
ความสำคัญของแคลเซียม ต่อโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

 

ความสำคัญของแคลเซียม ต่อโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

                กระดูกเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างร่างกายที่ประกอบไปด้วยโปรตีนหนึ่งในสามส่วน และสองในสามส่วนที่เหลือคือเกลือแร่ ซึ่งก็คือแคลเซียมนั่นเอง โดยโปรตีนที่เป็นเนื้อกระดูกนั้นส่วนใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยคอลลาเจน แต่เมื่อเติบโตก้าวเข้าสู่ช่วงอายุ 20 ปีในผู้หญิง และ 25 ปีในผู้ชาย หลังจากนี้ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ สิ่งที่สำคัญคือหลังจากที่ผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือนในช่วง 10 ปีแรก ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว

 

โรคกระดูกพรุนคืออะไร

                โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) คือโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลในกระบวนการผลัดผิวกระดูก อาจจะเรียกได้ว่าเซลล์สลายกระดูกมากกว่าเซลล์สร้างกระดูก จึงทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลงหรือเนื้อกระดูกบางลง มีความเปราะมากขึ้น สามารถพบได้มากในผู้สูงอายุที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอเมื่ออยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว

 

อาการโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

                ตำแหน่งของกระดูกที่เปราะหักในผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะพบได้ที่บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง โดยกว่าจะสังเกตตนเองว่าอยู่ในภาวะโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นตามหลังอุบัติเหตุ เช่น การไออย่างรุนแรงก็อาจจะมีผลทำให้ผู้สูงอายุกระดูกซี่โครงหักได้ หรือแม้แต่เวลาที่หกล้มแล้วใช้ข้อมือค้ำยันพื้นไว้เพื่อประคองตนเอง แต่กระดูกข้อมือกลับไม่สามารถรองรับน้ำหนักตนเองได้เหมือนสมัยยังหนุ่มสาว จึงทำให้กระดูกข้อมือหักได้

 

วิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

                การรักษาโรคกระดูกพรุนเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การป้องกันไม่ให้ตนเองอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนกลับเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยที่ผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียมปริมาณวันละ 1,000 มิลลิกรัม อย่างสม่ำเสมอ และควรรับประทานวิตามินดีวันละ 400 – 800 ยูนิตร่วมด้วย เพื่อช่วยคงระดับแคลเซียมในปริมาณที่ร่างกายต้องการ และไม่ทำให้เกิดการสลายกระดูกที่เกิดจากภาวะแคลเซียมในโลหิตต่ำ

                ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุควรจะได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัมก็ตาม แต่การแบ่งรับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น

 

การเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม

                เมื่อเลือกรับประทานแคลเซียมชนิดเม็ด ควรพิจารณาว่าแคลเซียมนั้นอยู่ในรูปเกลือชนิดใด เนื่องจากเกลือแคลเซียมแต่ละชนิดมีอัตราการละลายไม่เท่ากัน กล่าวคือ แคลเซียมซิเตรตสามารถละลายได้ดีกว่าและถูกดูดซึมได้มากกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเหมาะสมกับผู้สูงอายุมากที่สุด

                โดยควรรับประทานก่อนอาหาร เนื่องจากน้ำย่อยที่เป็นกรดในกระเพาะอาหารจะช่วยละลายเกลือแคลเซียมอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการรับประทานแคลเซียมหลังอาหาร เมื่อร่างกายได้รับแคลเซียมที่เพียงพอก็จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้

 

Share this Article