article
ผลเสียของการขาดแคลเซียม (Calcium) ที่คุณควรรู้

 

 

ผลเสียของการขาดแคลเซียม (Calcium) ที่คุณควรรู้

                " แคลเซียม " เป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุดในร่างกาย โดยในแคลเซียม 99% พบได้มากในกระดูกและฟัน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง สามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

 

                ร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างแคลเซียมให้เกิดขึ้นเองได้ จึงควรรับประทานแคลเซียมให้เท่ากับปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือเกิดภาวะขาดแคลเซียมในร่างกาย ร่างกายจะทำการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อส่งผ่านทางเลือดไปเลี้ยงส่วนอื่นๆ ของร่างกาย หากภายในกระดูกของเรามีแคลเซียมไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดโรคทางกระดูกได้ง่าย เช่น โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกอ่อนอักเสบ โรคข้ออักเสบ กระดูกเปราะ หรือโรครูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้กับร่างกายได้เป็นอย่างมาก

 

                โดยเฉพาะเมื่อเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยการเกิดโรคต่างๆ เหล่านี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากร่างกายหยุดสร้างเซลล์กระดูก อีกทั้งภายในร่างกายเกิดการสลายตัวของกระดูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มวลกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ ไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อมวลกระดูกลดน้อยลง ทำให้กระดูกเริ่มบางลง เกิดการเปราะและแตกหักง่าย ยิ่งในวัยผู้สูงอายุ หากเกิดการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย อาจทำให้กระดูกหักได้ และหากแผลเกิดอาการติดเชื้ออาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมา

 

                นอกเหนือไปจากภาวะที่อาจเกิดขึ้นกับกระดูกแล้ว การขาดแคลเซียมยังอาจส่งผลให้เกิดอีกหลากหลายปัญหาสุขภาพตามมา เนื่องจากแคลเซียมยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างระบบต่างๆ ภายในร่างกาย อาทิ เสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของระบบประสาท รักษาสมดุลของความดันเลือด เป็นต้น

 

                หากร่างกายขาดแคลเซียมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดลดต่ำลงจนเกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น การเกิดตะคริวบ่อย อาการชา เกร็ง หงุดหงิดง่าย และมีอาการชักร่วมด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อตอบสนองไวเกินไป ในบางรายที่มีการขาดแคลเซียมรุนแรง อาจถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

 

                บุคคลที่มักมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลเซียมมากที่สุด คือ เพศหญิง โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ และสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยในสตรีมีครรภ์มีความเสี่ยงต่อภาวะแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอเนื่องจากทารกที่อยู่ภายในครรภ์มีความต้องการแคลเซียมสูง ส่วนในสตรีวัยหมดประจำเดือนมักเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนภายในร่างกายลดต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายลดการดูดซึมแคลเซียม อัตราการเพิ่มของกระดูกลดต่ำลง แต่อัตราการสลายของกระดูกยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นร่างกายคนเราควรได้รับปริมาณแคลเซียมให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในการเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้

 

 

Share this Article

สินค้าแนะนำ