ความต้องการแคลเซียม
แคลเซียมของแต่ละช่วงวัย
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกายอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของโครงสร้างร่างกาย เช่น กระดูก เล็บ และฟัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของสุขภาพอีกด้วย จึงอาจจะกล่าวได้ว่าแคลเซียมจำเป็นสำหรับทุกคนทุกเพศทุกวัย โดยในแต่ละช่วงวัยควรได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมดังนี้
วัยเด็ก อายุ 1 – 10 ปี
เด็กๆ มีความต้องแคลเซียมมากกว่าผู้ใหญ่ โดยควรจะได้รับแคลเซียมปริมาณวันละ 800 – 1,000 มิลลิกรัม เพื่อใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน รวมทั้งใช้เป็นโครงสร้างของร่างกาย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ถ้าเด็กได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้ขบวนการสะสมเกลือแร่ในกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกลดลง ซึ่งส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกอ่อนหรือโรคกระดูกค่อมงอได้
วัยหนุ่มสาว อายุ 11 – 24 ปี
วัยหนุ่มสาวนี้เป็นช่วงวัยที่ร่างกายกำลังดำเนินขบวนการก่อรูปกระดูก ดังนั้นจึงควรได้รับแคลเซียมปริมาณวันละ 1,000 มิลลิกรัม เพื่อเสริมความแข็งแรงและเพิ่มมวลกระดูกให้หนาแน่นยิ่งขึ้น เนื่องจากถ้าได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลเสียตามมาภายหลังอย่างเช่น ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกอ่อน อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหรือกระดูก และหากกระดูกมีการแตกหักเกิดขึ้น จะทำให้กระดูกสมานตัวได้ช้ากว่าปกติ
วัยกลางคน – วัยสูงอายุ
เมื่อก้าวเข้าสู่อายุ 30 ปี ขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มไม่สะสมแคลเซียมอีกต่อไป และยังมีโอกาสการสูญเสียแคลเซียมในกระดูกสูงขึ้น จึงมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับโรคที่เกี่ยวกับกระดูกมากขึ้น ดังนั้นในช่วงวัยนี้จึงควรได้รับแคลเซียมปริมาณวันละ 1,500 มิลลิกรัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ที่จำเป็นต้องตัดมดลูกและรังไข่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าร่างกายจะสูญเสียกระดูกภายในระยะเวลา 5 – 6 ปี หลังจากที่ฮอร์โมนเพศเริ่มทำงานลดน้อยลง
สำหรับผู้สูงอายุที่มีการเสริมแคลเซียมไว้อย่างเพียงพอ หรือได้รับการสะสมแคลเซียมก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวัยนี้ จะช่วยยับยั้งและลดการสูญเสียกระดูกได้ ซึ่งการผุกร่อนของกระดูกจะลดน้อยลง ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกในช่วงวัยนี้ได้พอสมควร
หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้น้ำนมบุตร
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งควรต้องได้รับมากกว่าคนทั่วไปถึงปริมาณวันละ 1,500 มิลลิกรัม เนื่องจากมีการถ่ายทอดแร่ธาตุชนิดนี้สู่ลูก โดยใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างโครงสร้างร่างกายและพัฒนาการเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์ให้เป็นไปอย่างปกติ และเป็นส่วนประกอบการผลิตน้ำนมที่ให้แก่ทารก ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ผู้หญิงในช่วงระยะเวลานี้จะสูญเสียแคลเซียมในร่างกายได้ รวมถึงความหนาแน่นของกระดูกลดลง จนส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกระดูกในที่สุด
Share this Article